

ทั้งนี้ ตัวไรอ่อนมักกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ หลังถูกกัด 10-12 วัน จะเริ่มแสดงอาการ คือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้บริเวณที่โดนกัด ลักษณะแผลจะเป็นรอยบุ๋ม แดงคล้ำ ไม่มีอาการคันซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรค บางรายอาจหายได้เอง แต่ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยมักเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้
ไข้รากสาดใหญ่ เป็นกันได้ตลอดปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักเดินป่า ทหาร ตลอดจนผู้ที่ตั้งค่ายในป่า แต่จะพบมากเป็นพิเศษในช่วงหน้าฝนถึงหน้าหนาว โดยตัวไรอ่อนจะอาศัยตามพื้นหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต หรือคน แล้วดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร ตามข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา
สำหรับโรคไข้รากสาดใหญ่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้น เมื่อจะท่องเที่ยวตามป่าเขา ควรเตรียมพร้อม ก่อนกางเต็นท์ควรถางพื้นให้โล่งเตียนป้องกันสัตว์หรือแมลงมีพิษต่างๆ แต่งกายให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บชายเสื้อในกางเกง สวมถุงเท้า รองเท้า ให้คลุมปลายขากางเกงไว้ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นหญ้าโดยตรง และควรทายาป้องกันแมลงกัดตามแขน ขา
หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีและรีบซักเสื้อผ้าที่ใช้ด้วย เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมาได้ หากในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ หลังกลับจากเข้าป่า เกิดมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือพบรอยแผลบุ๋มแดงคล้ำจากการถูกแมลงกัด ให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรรีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าป่าให้ทราบ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ต้องกินยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และติดตามผลการรักษาตามนัด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้
แหล่งข้อมูล : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
